ความหมายและความเป็นมา ตามความหมายในจดหมายเหตุมีการเขียนชื่อคลองนี้แตกต่างกันออกไป ชาวบ้านบางคนเขียนว่า คลองบางปรากฏ บ้างก็เขียนว่า คลองบางปลากด แต่ความในจดหมายเหตุที่ทรงบันทึกโดยรัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกว่า คลองบางปกด โดยในปัจจุบันใช้คำว่า คลองบางปลากด ในอดีตนั้นบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยามีสองฝากฝั่ง คือ ฝั่งตลาด (เมืองปากน้ำ) กับ ฝั่งคลองบางปลากด สำหรับฝั่งคลองบางปลากดนี้เป็นคลองสำคัญบนฝั่งขวาของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ฝั่งคลองบางปลากดสามารถใช้เป็นเส้นทางในการคมนาคมขนส่งทางเรือภายในคลองออกสู่ฝั่ง ตลาด (เมืองปากน้ำ) ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการขุดคลองขึ้นมาใหม่คือ คลองสรรพสามิต ออกสู่หมู่บ้านโบราณชื่อ บ้านสาขลา ทำให้การสัญจรทางน้ำเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ความหมายของคำว่า คลองบางปลากด นั้น เริ่มต้นจากความหมายของ คำว่า คลอง เป็นคำไทยมาจากภาษามอญ แปลว่า ทาง แต่เดิมใช้กันเป็นสามัญที่แปลว่าทางน้ำ โดยเป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติ ของสัตว์นํ้าจำพวก กุ้ง หอย ปู ปลา และเป็นเส้นทางที่อาศัยการเดินเท้าได้สะดวก จึงมีผู้คนนิยมปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณริมคลอง เช่น บ้านคลองมอญ ส่วนคำว่า บาง ผู้ชำนาญการทางภาษาเขมรได้กล่าวถึงความหมายไว้ว่าบาง คือ ชะวากทะเล คลองกับบางจึงมีความหมายที่คล้ายกัน โดยคำว่า บาง มีลักษณะเป็นคลองที่เป็นทางตันและมีหมู่บ้านตั้งอยู่ริมน้ำที่อยู่ใกล้ทะเล สำหรับคำว่า ปลากด นั้น มีการบันทึกไว้ 3 รูปแบบ คือ ปลากด ปรากฏ และปกด (รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกไว้) จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตสภาพพื้นที่ของ ตำบลในคลองบางปลากด เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และเต็มไปด้วยแหล่งน้ำตามธรรมชาติมากมายทั้ง คลอง คู ลำราง ทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งเกษตรกรรมขนาดใหญ่ โดยชาวบ้านในพื้นที่เริ่มต้นด้วยการทำเกษตรกรรมตั้งแต่การ ปลูกข้าว แต่สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มอยู่ติดทะเลทำให้น้ำท่วมถึง จึงเริ่มเปลี่ยนอาชีพมาเป็นการ ตัดจาก เพื่อส่งมุงหลังคา เมื่อทรัพยากรดังกล่าวเหลือน้อยลงจึงเริ่มหันมาทำการ ปลูกมะพร้าว เพื่อทำเป็นน้ำตาล และเปลี่ยนมาทำ สวนพุทรา และสวนส้ม จนกระทั่งเริ่มมี โรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาในพื้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก เช่น มีการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก เส้นทางการคมนาคมและการขนส่งที่สะดวกมากขึ้น ฯลฯ สภาพทั่วไปของตำบล ปัจจุบัน ตำบลในคลองบางปลากด มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 14.50 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9,062.50 ไร่ โดยเป็น 1 ใน 5 ตำบล ของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ แต่เดิมมีสถานะเป็น สภาตำบล ต่อมาได้รับการจัดตั้งเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลในคลองบางปลากด ตั้งอยู่เลขที่ 333/3 หมู่ที่ 9 ถนนโค้งสน-คู่สร้าง ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 10290 ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปของตำบลในคลองบางปลากด มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีน้ำทะเลท่วมถึง โดยมี คลองบางปลากด เป็นคลองสายหลักในพื้นที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนด้านการคมนาคมมี ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนประชาอุทิศ - คู่สร้าง เป็นถนนสายหลักในพื้นที่ มีประชาชนใช้สัญจรเป็นจำนวนมาก และยังมี ซอยวัดคู่สร้าง ซอยวัดใหญ่ เป็นถนนซอยหลักในพื้นที่ตลอดจนมีโรงงานอุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรรเป็นจำนวนมาก แต่สภาพพื้นที่บางส่วนยังคงมีการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่บ้าง |
|
อ้างอิงจาก : http://naiklong.go.th/default.php?modules=fckeditor&fck_id=4&view_id=55&orderby=1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น